UAC ปลื้มโรงไฟฟ้าชีวภาพ"แม่แตง" คว้ารางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2019

>>

Hightlight

  •  บมจ.ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC  ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทนประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) ในโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่ จากการประกวด Thailand Energy Awards 2019 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน   
  • โรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแม่แตง เริ่มเดินระบบจนเข้าสู่สภาวะเสถียรและดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปี กำลังผลิต 1.483  เมกะวัตต์ ในปี 2561 
  • โครงการใช้วัตถุดิบประมาณ 28,000 ตัน สร้างรายได้ให้แก่โรงไฟฟ้าฯ มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 4,712 ตัน

 

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่น ปิโตรเคมี และธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของบริษัทฯ ภายหลังจากดำเนินการตามแผนกลยุทธ์พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 บริษัทได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทนประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) ในโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จากการประกวด Thailand Energy Awards 2019 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน

 

สำหรับรางวัล Thailand Energy Awards พิจารณาจากโครงการเป็นตัวอย่างที่ดีด้านส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทดแทนและสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานของประเทศ คำนึงถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นสำคัญ และสามารถนำโครงการไปต่อยอดพัฒนา เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

 

พลังงานทดแทน 

 

โรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแม่แตง ได้เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 และเริ่มเดินระบบจนเข้าสู่สภาวะเสถียร และดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปี กำลังผลิต 1.483  เมกะวัตต์ ในปี 2561 โครงการใช้วัตถุดิบประมาณ 28,000 ตัน สร้างรายได้ให้แก่โรงไฟฟ้าฯ มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 4,712 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานจึงสามารถทำร่วมกับชุมชนได้ทุกพื้นที่ในประเทศ


บริษัทมีแนวทางพัฒนาที่จะผลิตพลังงานทดแทน เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยสนับสนุนปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่โตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนแล้งให้ผลผลิตตลอดปี ทั้งนี้บริษัทฯจะซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ปีละกว่า 15 ล้านบาท เป็นการช่วยให้เงินหมุนเวียนในชุมชน   และบริษัทฯยังรับต้นข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชพลังงานอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาผลิตก๊าซชีวภาพได้ และยังมีส่วนช่วยลดการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ หรือ PM2.5 ในพื้นที่อีกด้วย  

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของภาพรวมการเติบโตทางธุรกิจ บริษัทตั้งเป้ารายได้วางไว้  2,700 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่ EBITDA คาดว่าไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท และมั่นใจว่า อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในปี 2562 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า จาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.35 เท่า ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน และเชื่อมั่นว่ายังเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนต่อเนื่องในอนาคต